Welcome to the website of innovative educational technology and information supplied by Ms. Piyapon Chawdorn

..Unit 1..


หน่วยที่ 1 

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศ






ความหมายของนวัตกรรม

          นวัตกรรมจึง หมายความว่า เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยต้องผ่านการคิดค้น  การพัฒนา และการในไปปฏิบัติ และสามารถใช้ได้จริงเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของหน่วยงานนั้นๆ รวมถึงการพัฒนา เปลี่ยนแปลง หรือ ปฏิรูป มาจากของเดิมที่มีมาอยู่แล้วให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้น หรือเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยเพื่อที่จะให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

นวัตกรรม สามารถออกเป็น 3 ระยะ ดั้งนี้
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) คือการคิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาโดยที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนหรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) หรือขั้นการทดลอง (Pilot Project) คือ การทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) เพื่อให้ได้ผลจริงก่อนนำไปปฎิบัติจริง
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติ ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์ คือ การนำนวัตกรรมที่ประดิษฐ์คิดค้น พัฒนาหรือการทดลองที่ได้ผลจริงนำมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและ หน่วยงานนั้นๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

องค์ประกอบของนวัตกรรม
1. เป็นสิ่งใหม่
2. เน้นใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์
3. เป็นประโยชน์  ต้องตอบได้ว่าสิ่งที่เราสร้างเป็นอย่างไร
4. เป็นที่ยอมรับ
5. มีโอกาสในการพัฒนา

ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา
        “นวัตกรรมทางการศึกษา” (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
ประเภทของนวัตกรรมการศึกษา 
1. นวัตกรรมทางด้านหลักสูตร เช่น หลักสูตรบูรณาการ หลักสูตรรายบุคคล หลักสูตรกิจกรรมและประสบการณ์ หลักสูตรท้องถิ่น
2. นวัตกรรมการเรียนการสอน เช่น การสอนแบบศูนย์การเรียน การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การสอนแบบเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
3. นวัตกรรมสื่อการสอน เช่น CAI WBI WBT VC Web Quest Weblog
4. นวัตกรรมการประเมินผล เช่น การพัฒนาคลังข้อสอบ การลงทะเบียนผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต การใช้บัตรสมาร์ตการ์ด เพื่อการใช้บริการของสถาบันศึกษา การใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดเกรด
5. นวัตกรรมการบริหารจัดการ เช่น ฐานข้อมูล นักเรียน นักศึกษา ฐานข้อมูล คณะอาจารย์และบุคลากร


แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมทางการศึกษา
          ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้4 ประการ คือ

1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different)
       การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
- การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- เครื่องสอน (Teaching Machine)
- การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)

2. ความพร้อม (Readiness)
        แต่เดิมเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
- ศูนย์การเรียน (Learning Center)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
- การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)

3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา
        แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
- การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
- มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- การเรียนทางไปรษณีย์

4. ประสิทธิภาพในการเรียน
         การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
- มหาวิทยาลัยเปิด
- การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
- การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
- ชุดการเรียน


นวัตกรรมการเรียนการสอน มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการได้แก่

1. วัตถุประสงค์ เป็นส่วนที่บอกว่านวัตกรรมนั้นใช้เพื่อพัฒนาอะไร ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้คืออะไร
2. ทฤษฎี หลักการหรือแนวคิด เป็นส่วนที่ทำให้นวัตกรรมนั้นมีความน่าเชื่อถือ เมื่อนำไปใช้จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดนั้น มีงานวิจัยรองรับยิ่งทำให้มั่นใจในความสำเร็จ
3. โครงสร้าง หรือขั้นตอนการใช้ เป็นส่วนที่แสดงภาพรวมของนวัตกรรม ถ้านวัตกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอนก็จะแสดงโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ เช่น ชุดการสอน ประกอบด้วย ซองกิจกรรมประจำศูนย์ แต่ละซองบรรจุบัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรม บัตรคำถาม และบัตรเฉลย อาจมีรูปภาพแผนภูมิ และ ของจริง นอกจากนี้ยังมีคู่มือครู ข้อทดสอบก่อน หลังการเรียน แผ่นฝึกปฏิบัติ
4. การประเมินผล เป็นส่วนที่แสดงความสำเร็จของนวัตกรรม ประกอบด้วย วิธีวัดผล เครื่องมือที่ใช้วัดผล และวิธีการประเมินผลประเภทของนวัตกรรมการเรียนการสอน เมื่อการเรียนการสอนมีลักษณะเป็นระบบ ประกอบด้วยตัวป้อน (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) การนำนวัตกรรมมาใช้จัดการเรียนการสอนจึงมีจุดหมายที่จะปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเรียนการสอน
 กระบวนการสื่อความหมาย และอุปสรรคในการสื่อความหมาย


       กระบวนการสื่อความหมาย (Communication Process) เพื่อให้การสื่อความหมายบรรลุตามวัตถุประสงค์นั้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องอาศัย ความรู้ ประสบการณ์ของผู้ส่งสาร และผู้รับสารที่ใกล้เคียงกัน หรือมีปัจจัยพื้นฐานร่วมกัน (Common factor) ซึ่งได้แก่
ระบบสังคม - ระดับการศึกษา
วัฒนธรรม - อาชีพ
-  ฐานะทางเศรษฐกิจ - ถิ่นที่อยู่
เพศ/อายุ - ความปกติทางร่างกาย


สาเหตุที่ใช้นวัตกรรมการศึกษา 

1. การเพิ่มจำนวนประชากร
       เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย สถานที่เรียน ครู สื่อการสอน เป็นต้น ทำให้การจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง นักการศึกษาได้เสนอแนวทางในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น โทรทัศน์การสอน (Instructional T.V.) ชุดการสอน (Instruction Package) เป็นต้น


2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
       เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องจากการเพิ่มประชากรโดยตรง ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การต่อสู้ดิ้นรน การแข่งขันสูงขึ้น การศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์อยู่เสมอ 


3. ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการใหม่ ๆ 
        การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้พบวิทยากรใหม่ ๆ ด้านการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหา และวิธีการสอน เพื่อให้ทันกับเครื่องมือและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 




ลักษณะของนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดี
 นวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.  มีลักษณะแปลกใหม่ ยังไม่เคยมีใครประดิษฐ์คิดค้นมาก่อน
2.  มีความทันสมัย และล้ำสมัย เพราะคิดค้นขึ้นมาใหม่
3.  มีคุณภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย
4.  มีคุณค่าต่อวงการศึกษา
5.  สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
6.  จัดทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก
7.  ไม่ใช้วัสดุราคาแพง แต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
8.  มีความสะดวก ใช้ง่าย ไม่สลับซับซ้อน
9.  มีลักษณะคงทน
10.  สามารถจัดเก็บได้ง่าย
11.  มีลักษณะสอดคล้อง คือสอดคล้องกับเนื้อหาหรือเรื่องที่ต้องการแก้ไข
12.  เป็นสื่อมีชีวิต ไม่ตาย มีลักษณะเคลื่อนไหว กระตุ้นและเร้าความสนใจได้จริง

ประโยชน์ของนวัตกรรมการเรียนการสอน มีประโยชน์ดังนี้
1.  เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้ครูสอนเนื้อหาให้นักเรียนเข้าใจง่ายขึ้น
2.  เป็นเครื่องช่วยร่นเวลาการสอนให้สั้นลง
3.  ช่วยให้นักเรียนเข้าใจง่ายขึ้น
4.  ช่วยทำเรื่องที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม
5.  ช่วยทำเรื่องยากให้เป็นง่าย
6.  ช่วยกระตุ้น และเร้าความสนใจให้กับนักเรียนมากขึ้น
7.  ช่วยให้การเรียนเนื้อหาง่ายขึ้น
8.  นักเรียนประสบความสำเร็จจากการเรียนมากขึ้น
9.  ช่วยให้นักเรียนไม่เบื่อในการเรียน
10.  ช่วยให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน
11.  เป็นเครื่องยืนยันถึงการพัฒนาตนเองของครู
12.  เป็นเกราะกำบังตนเองของครูได้อย่างดี
13.  เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพของครูได้เป็นอย่างดี

ความหมายของเทคโนโลยี
    เทคโนโลยี เป็นการนำเอาแนวความคิด หลักการ เทคนิค ความรู้ ระเบียบวิธี กระบวนการ ตลอดจนผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ทั้งในด้านสิ่งประดิษฐ์และวิธีปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในระบบงานเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้มีมากยิ่งขึ้น

การพิจารณาการนำเทคโนโลยีมาใช้  

1.  ประสิทธิภาพ ( Efficiency ) เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานบรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างเที่ยงตรงและรวดเร็ว
2. ประสิทธิผล ( Productivity ) เป็นการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
3.  ประหยัด ( Economy ) เป็นการประหยัดทั้งเวลาและแรงงานในการทำงานด้วยการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากกว่าที่ลงทุนไป

ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษา คือ การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอนโดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชา มีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆในลักษณะของสื่อประสม และการศึกษาด้วยตนเอง
         นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศนศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการศึกษา มีความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งอาจจะพิจารณาจาก


 ความคิดรวบยอดของเทคโนโลยีได้เป็น 2 ประการ คือ
       1. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ ตามความคิดรวบยอดนี้ เทคโนโลยีทางการศึกษาหมายถึง การประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพ ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ มาใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องมือเหล่านี้ มักคำนึงถึงเฉพาะการควบคุมให้เครื่องทำงาน มักไม่คำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และการเลือกสื่อให้ตรงกับเนื้อหาวิชา
       2. ความคิดรวบยอดทางพฤติกรรมศาสตร์ เป็นการนำวิธีการทางจิตวิทยา มนุษยวิทยา กระบวนการกลุ่ม ภาษา การสื่อความหมาย การบริหาร เครื่องยนต์กลไก การรับรู้มาใช้ควบคู่กับผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ผู้เรียน เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมิใช่เพียงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น แต่รวมถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย มิใช่วัสดุ หรืออุปกรณ์ แต่เพียงอย่างเดียว

เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
1. การขยายพิสัยของทรัพยากรของการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอน ที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น
          1.1 คน คนเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งได้แก่ ครู และวิทยากรอื่น ซึ่งอยู่นอกโรงเรียน เช่น เกษตรกร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น
          1.2 วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องวิดีโอเทป ของจริงของจำลองสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการใช้สื่อมวลชนต่างๆ
          1.3 เทคนิค-วิธีการ แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนส่วนมาก ใช้วิธีให้ครูเป็นคนบอกเนื้อหา แก่ผู้เรียนปัจจุบันนั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้มากที่สุด ครูเป็นเพียง ผู้วางแผนแนะแนวทางเท่านั้น
         1.4 สถานที่ อันได้แก่ โรงเรียน ห้องปฏิบัติการทดลอง โรงฝึกงาน ไร่นา ฟาร์ม ที่ทำการรัฐบาล ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือสถานที่ใด ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียนได้

2. การเน้นการเรียนรู้แบบเอกัตบุคคล ถึงแม้นักเรียนจะล้นชั้น และกระจัดกระจาย ยากแก่การจัดการศึกษาตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามคิด หาวิธีนำเอาระบบการเรียนแบบตัวต่อตัวมาใช้ แต่แทนที่จะใช้ครูสอนนักเรียนทีละคน เขาก็คิด แบบเรียนโปรแกรมซึ่งทำหน้าที่สอน ซึ่งเหมือนกับครูมาสอน นักเรียนจะเรียนด้วยตนเอง จากแบบเรียนด้วยตนเองในรูปแบบเรียนเป็นเล่ม หรือเครื่องสอนหรือสื่อประสมหลายๆ อย่าง จะเรียนช้าหรือเร็วก็ทำได้ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน

3. การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบในการศึกษา การใช้วิธีระบบ ในการปฏิบัติหรือแก้ปัญหา เป็นวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหา หรือช่วยให้งานบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากกระบวนการของวิธีระบบ เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของงานหรือของระบบ อย่างมีเหตุผล หาทางให้ส่วนต่าง ๆ ของระบบทำงาน ประสานสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ

4. พัฒนาเครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษา หรือการเรียนการสอนปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนา ให้มีศักยภาพ หรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ระดับของเทคโนโลยีทางการศึกษา

      
การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาเป็นพื้นฐานสำคัญ เทคโนโลยีทางการศึกษาแบ่งออกได้ 3 ระดับ ได้แก่
   1. ระดับอุปกรณ์การสอน  เป็นการใช้เทคโนโลยีในระดับเครื่องช่วยการสอนของครู เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียน การใช้เทคโนโลยีระดับนี้ จะต้องควบคู่ไปกับการสอนของครูตลอดเวลา
   2. ระดับวิธีสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีแทนการสอนของครูด้วยตนเอง โดยผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกับผู้สอนเสมอไป  การใช้เทคโนโลยีระดับนี้บทบาทของครูต่อหน้าผู้เรียนลดลง ข้อดีในแง่การจัดกิจกรรม การใช้เครื่องมือ ข้อเสีย คือ ไม่มีความผูกพันระหว่างครูกับผู้เรียน 
    3. ระดับการจัดระบบการเรียนการสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีการศึกษาระดับกว้าง สามารถจัดระบบการศึกษาตอบสนองผู้เรียนได้จำนวนมาก เทคโนโลยีระดับนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น งานบริหารการศึกษา งานพัฒนาการศึกษา สื่อการศึกษา เป็นต้น

ความสำคัญของเทคโนโลยี
1.เป็นพื้นฐานปัจจัยจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
2.เป็นปัจจัยหลักที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา
3.เป็นเรื่องราวของมนุษย์ และธรรมชาติ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อนำนวัตกรรมมาใช้ในการศึกษา 
การนำนวัตกรรม มาใช้ในการศึกษาและใช้ในการเรียนการสอน ต้องคำนึงถึงความสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ประสิทธิภาพ (Efficiency) 
       ในการเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนผู้สอนได้เรียนและได้สอนเต็มความสามารถเต็มหลักสูตรเต็มเวลาด้วยความพึงพอใจ เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์เต็มความสามารถ (Full Energy) และเกิดความพอใจ (Satisfaction) เป็นที่ได้ใช้สื่อนั้น
2. ประสิทธิผล (Productivity) 
      ในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดประสงค์ตามที่กำหนดจุดประสงค์ไว้ซึ่งนักเรียนเกิดการเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์ได้ดีกว่า สูงกว่าไม่ใช้สื่อนั้น
3. ประหยัด (Economy) 
      ในการใช้นวัตกรรมมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ต้องคำนึงถึงสภาพความเหมาะสมตามฐานะแล้ว จะต้องประหยัด นั่นคือ ประหยัดทั้งเงินประหยัดเวลา และประหยัดแรงงาน

การขยายตัวทางวิทยาการทำให้เทคโนโลยี ถูกนำมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ เช่น 
 - เทคโนโลยีทางการทหาร (Military Technology)
 - เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical Technology)
 - เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology)
 - เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology)
 - เทคโนโลยีทางการค้า (Commercial Technology)
  - เทคโนโลยีทางวิศวกรรม (Engineering Technology)
  - เทคโนโลยีทางการตลาดสังคม (Social Marketing Technology)
  - เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) 

 ความสัมพันธ์ระหว่าง เทคโนโลยี กับ นวัตกรรม
          คำว่า นวัตกรรม เป็นคำที่ใช้ควบคู่กับ เทคโนโลยี เสมอๆ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Innotech ความจริงแล้ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของการคิดค้นหรือการกระทำใหม่ ๆเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นของการเสนอความคิดหรือในขั้นของการทดลองอยู่ก็ได้ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมุ่งไปที่การนำสิ่งต่าง ๆรวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากพิจารณาว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วย และในการใช้เทคโนโลยีนี้ถ้าเราทำให้เกิดวิธีการหรือสิ่งใหม่ๆ ขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราจึงมักเห็นคำ นวัตกรรม และ เทคโนโลยี อยู่ควบคู่กันเสมอ

ความแตกต่างระหว่างนวัตกรรมและเทคโนโลยี
1.     นวัตกรรมเป็นแนวคิด  แนวปฏิบัติ  หรือการกระทำใหม่ๆจะเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้แต่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับจนกลายเป็นแนวปฏิบัติ
 2.นวัตกรรมอยู่ในขั้นการเอาไปใช้ในกลุ่มย่อยเพียงบางส่วนไม่แพร่หลายแต่เทคโนโลยีอยู่ในขั้น   การนำเอาไปปฏิบัติกันในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ประโยชน์สำหรับผู้เรียน ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์ดังนี้
1. ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้ความสามารถของตนเองในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
2. ผู้เรียนมีโอกาสตัดสินใจในการเลือกเรียนตามช่องทางที่เหมาะกับความสามารถของตนเอง
3. ทำให้กระบวนการเรียนรู้ง่ายขึ้น
4. ผู้เรียนมีอิสระในการเลือก
5. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในทุกเวลา ทุกสถานที่
6. ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7. ลดเวลาในการเรียนรู้และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าเดิมในเวลาเท่ากัน
8. ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
9. ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักเสาะหาแหล่งการเรียนรู้
10.ฝึกให้ผู้เรียน คิดเป็นและสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้  
                                                 
2) ประโยชน์สำหรับผู้สอน ผู้สอนจะได้ประโยชน์ดังนี้
1. ทำให้ประสิทธิภาพของการสอนสูงขึ้น
2. ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย
3. ทำให้ผู้สอนมีเวลามากขึ้น จึงใช้เวลาที่เหลือในการเตรียมการสอนได้เต็มที่
4. ทำให้กระบวนการสอนง่ายขึ้น
5. ลดเวลาในการสอนน้อยลง
6. สามารถเพิ่มเนื้อหาและจุดมุ่งหมายในการสอนมากขึ้น
7. ผู้สอนไม่ต้องใช้เวลาสอนทั้งหมดอยู่ในชั้นเรียนเพราะบทบาทส่วนหนึ่งผู้เรียนทำเอง
8. ผู้สอนสามารถแก้ปัญหาความไม่ถนัดของตนเองได้
9. ผู้สอนสามารถสอนผู้เรียนได้เนื้อหาที่กว้างและลึกซึ้งกว่าเดิม
10. ง่ายในการประเมิน เพราะการใช้เทคโนโลยี มุ่งให้ผู้เรียนประเมินตนเองด้วย   

3) ประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา ในแง่ของการจัดการศึกษาจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
1. สามารถเปิดโอกาสของการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
2. ทำให้ลดช่องว่างทางการศึกษาให้น้อยลง
3. สามารถสร้างผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
4. ทำให้การจัดการและการบริหารเป็นระบบมากขึ้น
5. ทำให้ลดการใช้งบประมาณและสามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้คุ้มค่า
6. สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษาได้หลายประการ

ความหมายของสารสนเทศ

      สารสนเทศ คือ ข้อมูล ข่าวสาร ข่าว ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือประสบการณ์ อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น ตัวอักษร ตัวเลข รูปภาพ เสียง สัญลักษณ์ หรือกลิ่น ที่ถูกนำมาผ่านกระบวนการประมวลผล ด้วยวิธีการที่ เรียก ว่า กรรมวิธีจัดการข้อมูล (Data Manipulation) และผลที่ได้อาจแสดงผลออกมาในรูปแบบของสื่อประเภทต่าง เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ แผนที่ แผ่นใส ฯลฯ และเป็นผลลัพธ์ที่ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ตรงและทันกับความต้องการ     


คุณลักษณะของสารสนเทศที่ดี (Characteristics of Information)
1.สารสนเทศที่ดีต้องมีความความถูกต้อง และไม่มีความผิดพลาด
2.ผู้ที่มีสิทธิใช้สารสนเทศสามารถเข้าถึง สารสนเทศได้ง่าย ในรูปแบบ และเวลาที่เหมาะสม ตาม ความต้องการของผู้ใช้
3.สารสนเทศต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ
4.สารสนเทศที่ดีต้องมีความสมบูรณ์บรรจุไปด้วยข้อเท็จจริงที่มีสำคัญครบถ้วน
5.สารสนเทศต้องมีความกะทัดรัด  หรือรัดกุม เหมาะสมกับผู้ใช้
6.กระบวนการผลิตสารสนเทศต้องมีความประหยัด  ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจมักจะต้องสร้างดุลยภาพ ระหว่างคุณค่าของสารสนเทศกับราคาที่ใช้ในการผลิต
7.ต้องมีความยึดหยุ่น  สามารถในไปใช้ในหลาย ๆ เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์
8.สารสนเทศที่ดีต้องมีรูปแบบการนำเสนอ  ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
9.สารสนเทศที่ดีต้องตรงกับความต้องการ ของผู้ที่ทำการตัดสินใจ
10.สารสนเทศที่ดีต้องมีความน่าเชื่อถือ  เช่น เป็นสารสนเทศที่ได้มาจากกรรมวิธีรวบรวมที่น่าเชื่อ ถือ หรือแหล่ง ที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น
11.สารสนเทศที่ดีควรมีความปลอดภัย  ในการเข้าถึงของผู้ไม่มีสิทธิใช้สารสนเทศ
12.สารสนเทศที่ดีควรง่าย  ไม่สลับซับซ้อน มีรายละเอียดที่เหมาะสม (ไม่มากเกินความจำเป็น)
13.สารสนเทศที่ดีต้องมีความแตกต่าง หรือประหลาด  จากข้อมูลชนิดอื่น ๆ
14.สารสนเทศที่ดีต้องทันเวลา  หรือทันต่อความต้องการ  ของผู้ใช้ หรือสามารถส่ง ถึงผู้รับได้ในเวลาที่ผู้ใช้ต้องการ
15.สารสนเทศที่ดีต้องเป็นปัจจุบัน  หรือมีความทันสมัย ใหม่อยู่เสมอ มิเช่นนั้นจะไม่ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
16.สารสนเทศที่ดีต้องสามารถพิสูจน์ได้ หรือตรวจสอบจากหลาย ๆ แหล่ง ได้ว่ามีความถูกต้อง

คุณภาพของสารสนเทศ (Quality of Information/Information Quality)

คุณภาพของสารสนเทศ จะมีคุณภาพสูงมาก หรือน้อย พิจารณาที่ 2 ประเด็น ดังนี้  
1. ตรงกับความต้องการ (Relevant) หรือไม่ โดยดูว่าสารสนเทศนั้นผู้ใช้สามารถนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพได้ มากกว่าไม่ใช้สารสนเทศ หรือไม่ คุณภาพของสารสนเทศ อาจจะดูที่มันมีผลกระทบต่อกิจกรรมของผู้ใช้ หรือไม่ อย่างไร

2. น่าเชื่อถือ (Reliable) เพียงใด ความน่าเชื่อถือมีหัวข้อที่จะใช้พิจารณา เช่น ความทันเวลา  กับผู้ใช้ เมื่อ ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้มีสารสนเทศนั้น หรือไม่ สารสนเทศที่นำมาใช้ต้องมีความถูกต้อง สามารถพิสูจน์  ได้ว่าเป็นความจริง ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศ                                     
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. บทบาทต่อการดำเนินชีวิต เช่น การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง
2. บทบาทเกี่ยวกับข้อมูล เช่น การจัดเก็บข้อมูลและการสร้างฐานข้อมูล การสื่อสารข้อมูล เป็นต้น
3. บทบาทด้านธุรกิจ เช่น งานด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้มการเจริญเติบโตของบริษัท
4. บทบาทด้านการศึกษา เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซอฟท์แวร์สื่อการสอน
5. บทบาทด้านการวิจัย เช่น การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาประเทศ การวิจัยด้านการเกษตร การวิจัยด้านการแพทย์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ฯลฯ ต้ออาศัยเทคโนโลยีโดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านการประมวลผลข้อมูล เข้ามาช่วยเพื่อใช้งานวิจัยเพื่อต้องการความถูกต้องและความแม่นยำสูง
6. บทบาทด้านการทหาร เช่น การสื่อสารระหว่างหน่วยงานทางราชการ งานด้านข่าวกรอง
7. บทบาทด้านการแพทย์ เช่น การรักษาพยาบาล การผ่าตัด การตรวจโรค
8. บทบาทด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบิน การโรงแรม การกีฬาและการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม


การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
            เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการสอนเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ทำให้การเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ รูปแบบของสื่อการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ยุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ไฮเปอร์เท็กซ์ คอมพิวเตอร์ และระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญกับการศึกษาและมีส่วนช่วยให้การศึกษาดีขึ้นอย่างไร พอจะสรุปได้ดังนี้
     - ทำให้การเรียนการสอนมีความหมาย และมีพลังมากขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนได้กว้างขวาง ได้เห็น ได้สัมผัสสิ่งที่เรียน ทำให้การเรียนการสอนมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้สอนมีเวลาให้ผู้เรียนมากขึ้นอีกด้วย

     - สามารถตอบสนองในเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสามารถของตน จึงทำให้การเรียนการสอนนั้นตอบสนองความสนใจและความต้องการของแต่ละบุคคลได้
     - ช่วยในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
     - ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น